มาถึงวันนี้ชีวิตของเรา ๆ คงคุ้นเคยกับไลฟ์สไตล์แบบดิจิทัลกันมากขึ้น ตั้งแต่ที่แทบจะทุกคนมี smart phone เป็นอวัยวะที่สามสิบสาม แอปพลิเคชัน ต่าง ๆ ก็เข้ามามีบทบาทในชีวิต ด้วยความที่ธรรมชาติของดิจิทัลมันรวดเร็วและสะดวกง่ายดาย จนบางครั้งเราก็ลืมนึกถึงความเหมาะสม ความละเอียดอ่อน ที่เรียกว่า"มารยาท"ไปเสียสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกับคนอื่น การติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ ที่มีกฎเกณฑ์และรูปแบบที่ละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อน ในที่นี้จึงขอรวบรวมพฤติกรรมบางอย่างที่ควรคำนึงถึงเมื่อเราดำเนินชีวิตทำงานแบบดิจิตอลมาชี้ให้เห็นเป็นเคสสตั๊ดดี้
การเลือกรูปแบบหรือช่องทางการสื่อสาร จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้มีช่องทางการสื่อสารออนไลน์มากมายหลายหลากประเภท ทั้งอีเมล์ ทั้งแอปพลิเคชันประเภท instant message ออกมารองรับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายทั้งในชีวิตประจำวันและชีวิตงาน แต่ธรรมชาติของแต่ละช่องทางก็มีความเหมาะสมแตกต่างกันไป อย่างเช่นว่า อีเมลล์ซึ่งอาจจะถูกมองว่ามีความล้าสมัยกว่า แต่ในความเป็นจริงยังคงเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลว่ามีความเป็นทางการกว่า ด้วยเหตุที่มี format แบบมืออาชีพ ทั้งการตั้งชื่อหัวข้อ ตบท้ายด้วยลายเซ็น ( ในกรณีที่เซ็ทไว้ ) ทั้งยังมี feature ที่สามารถเก็บจดหมายทุกฉบับเข้าโฟลเดอร์ เป็นหมวดหมู่มีระเบียบค้นหาง่าย ดังนั้นในการติดต่อเชิงธุรกิจอีเมล์จึงเป็นทางเลือกของการสื่อสารแบบทางการอยู่จนทุกวันนี้ ในขณะที่ instant message อย่าง line , WhatsApp , WeChat , BB นั้นเหมาะกับการสื่อสารที่ไม่เป็นทางการนัก หากแต่เน้นความคล่องตัว ตอบโต้ได้ทันใจ ก็ด้วยเหตุนี้ จึงต้องคิดให้ถ้วนถี่ว่า ประเด็นที่เราต้องการติดต่อสื่อสารมันมีลักษณะใด สำคัญแค่ไหน ควรใช้ช่องทางอย่างไรเพื่อความเหมาะสมที่สุด แต่เท่าที่เป็นอยู่เรามักจะใช้ instant message กันพร่ำเพรื่อ เรื่องที่เป็นทางการจึงดูลดความเป็นมืออาชีพลงไปอย่างไม่รู้ตัว และยังลามเลยไปถึงดูเหมือนเป็นคนไม่มีมารยาทสังคมเอาเสียด้วย เช่น ตั้งกลุ่มไลน์เพื่อโปรเจ็คท์ใดโปรเจ็คท์หนึ่ง แล้วถือวิสาสะลากเอาคนนั้นคนนี้เข้ามาโดยไม่ได้ชี้แจงขออนุญาตสักนิด บางครั้งการมีสมาชิกไลน์กลุ่มมากมาย แล้วคนใดคนหนึ่งตั้งคำถามหรือต้องการการตอบรับขึ้นมา หลาย ๆ คนคงเคยประสบกันมาว่า ทุก ๆ คนในกลุ่มอ่านข้อความนั้นแล้วแต่ไม่มีใครตอบ จึงนำมาซึ่งความขุ่นข้องหมองใจ นอกจากจะเสียมารยาทแล้ว ยังพาลให้เสียงานไปด้วยซ้ำ
ช่วงเวลาในการติดต่อ มารยาทสากลในการติดต่องานนั้น โดยทั่ว ๆ ไปถือเอาเก้าโมงเช้าถึงหกโมงเย็น หรืออนุโลมเป็นสิบโมงเช้าถึงสองทุ่มเป็นมาตรฐาน เสาร์อาทิตย์หากไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายหรือด่วนจี๋ไปรษณีย์ไฟไหม้ ก็ค่อยว่ากันเช้าวันจันทร์ แต่ก็ด้วยวิถีชีวิตดิจิตอล ที่ใช้ instant message เป็นการสื่อสารหลัก บางคนนึกว่าส่งไปแค่ message อีกฝั่งจะเปิดเมื่อไรก็ได้ ส่งไปยามวิกาล ปลายทางก็คงเปิดวันรุ่งขึ้น เอาเข้าจริง ๆ แอปพลิเคชันทั้งหลายมักจะถูกตั้งให้มีการแจ้งเตือน นึกตาม...พอส่งข้อความไลน์ไปตอนตีสอง คนรับได้ยินและเปิดดูก็ตาแข็งไปอีกค่อนคืน ด้วยเหตุฉะนี้ถึงจะอยู่ในโลกออนไลน์ ก็ขอให้คิดถึงกาลเทศะแบบออฟไลน์เป็นที่ตั้งว่า นอกเหนือจากเวลาติดต่องาน คือเวลาส่วนตัวหรือเวลาของคนที่สนิทสนมกันจริง ๆ
การใช้ social network ทั้งหลายแหล่ เรามักจะอ้างว่า โซเชียลอย่างเฟซบุ๊ค ไอจี ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่ตราบใดที่ตั้งค่าสาธารณะ ใครๆ ก็มีโอกาส "เห็น"และ "ส่อง" ชีวิตเราได้ทั้งนั้น ณ วันนี้โซเชียลทั้งหลายจึงกลายเป็นสื่อสาธารณะส่วนบุคคลไปโดยปริยาย บ่อยครั้งที่หลาย ๆ คนฟูมฟายชีวิตงานที่วิปโยค บางครั้งก็ขาดสติพาดพิงผู้บริหารของบริษัท อาจจะมองได้ว่าเป็นคราวซวยเฉพาะบุคคลของเขาคนนั้น(หากมีคนในองค์กรเดียวกันมาเห็นเข้า) กระนั้นก็ตามการพร่ำบ่นก่นด่าบนหน้าวอลล์ ก็สร้างมลภาวะแบบออนไลน์ได้อย่างน่าระอา
คำขอโทษขอบคุณ อาจจะเพราะเรานึกว่า การใช้ instant message นั้น มันต้องรวบรัดฉับไวไม่เยิ่นเย้อ...อันนี้ไม่เถียง แต่ก็อย่ากระชับจนลืมมีมารยาท เมื่ออีกฝ่ายทำอะไรให้ เช่น ส่งไฟล์งาน ชี้แจงข้อมูล อีกฝ่ายก็ควรต้องมีคำขอบคุณกลับไป ไม่ใช่ read แต่ no reaction การขอบคุณด้วยสติ๊กเกอร์ดีไซน์น่าร้าก อาจจะรับได้และเหมาะสมกับบางคน แต่กับผู้อาสุโสกว่า อาจต้องไตร่ตรองนิดหนึ่งว่าควรหรือไม่ควร
นี่เป็นเพียงบางประเด็นที่พบเห็นกันบ่อย ๆ ในความเป็นจริงแล้วยังมีประเด็นอ่อนไหวอีกมากมาย แต่ถ้าคิดละเอียดสักนิด นึกถ้วนถี่สักหน่อย จะอยู่ในโลกออฟไลน์ ออนไลน์ อนาล็อค ดิจิทัล ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับความนิยมชมชอบเสมอ จะชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตทำงาน ก็ประสบความสำเร็จไม่พลาดเป้า
#jobmyway #ไปถูกทางงานถูกใจ #มารยาทในออฟฟิศ