อัพเดทข่าว

เขียน RESUME อย่างไร พิชิตใจ HR



     เมื่อพูดถึงเรซูเม่ (RESUME) ทุกคนคงรู้จักกันดี โดยเฉพาะคนหางาน คนที่จบการศึกษาใหม่ ก่อนเริ่มหางานก็ต้องเขียนเรซูเม่เพื่อใช้ในการสมัครงาน คนที่ทำงานแล้ว หากต้องการเปลี่ยนงาน ก็ต้องทำเรซูเม่สำหรับสมัครงานใหม่ HR จะเรียกคนมาสัมภาษณ์ ก็จะดูจากเรซูเม่ ถ้าเขียนเรซูเม่ได้ดี ก็มีโอกาสได้เข้าสัมภาษณ์มากกว่าคนที่เขียนไม่ได้เรื่องเห็นแล้วใช่ไหมคะว่าเรซูเม่สำคัญอย่างไร


     ในการเขียนเรซูเม่ ถ้าค้นหาในอินเตอร์เน็ต ก็จะเห็นกูรูมาแนะนำการเขียนไว้มากมาย ในที่นี้จึงจะอธิบายว่าเรซูเม่ควรมีรายละเอียดอะไรบ้าง พร้อมทั้งแนะนำทริคดีๆ เพื่อจะได้จำไปใช้ในการเขียนเรซูเม่ เป็นประโยชน์ทั้งคนที่กำลังหางานทำหรือคนทำงานที่กำลังมองหางานใหม่


 1. ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Details) เป็นข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์  e-mail สำหรับติดต่อ เพศ อายุ วันเดือนปีเกิด ส่วนสูง น้ำหนัก ที่อยู่ สถานภาพสมรส ศาสนา สถานภาพทางทหาร สัญชาติ เชื้อชาติ งานอดิเรก รวมถึงต้องมีรูปถ่ายที่ดูดี ดูสุภาพ รูปสีก็ยิ่งดี

2. ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงานที่สนใจ ต้องการสมัครงานตำแหน่งใด สายงานใดต้องระบุให้ชัดเจน (สนใจมากกว่า 1 ตำแหน่งก็บอกได้) ตำแหน่งที่สมัครต้องตรงกับตำแหน่งที่ประกาศงาน สอดคล้องกับวุฒิการศึกษา และประสบการณ์ทำงาน และหากเป็น Platform บริการหางาน จะใช้ตำแหน่งงานในการค้นหาคนที่สนใจตำแหน่งงานที่ประกาศ จึงถือว่าสำคัญมาก

3. การศึกษา (Education) ให้เรียงจากระดับการศึกษาสูงสุดไปยังระดับการศึกษาต่ำสุด เพียงแค่ระดับมัธยมศึกษา ไม่ต้องถึงประถม โดยแต่ละระดับการศึกษาให้ระบุเรียงตามสถาบันการศึกษา เริ่มจากที่จบหลังสุด (หากจบจากหลายสถาบัน) โดยให้เขียนเกี่ยวกับ ปริญญาที่ได้รับ สาขา คณะ สถาบันการศึกษา เกรดเฉลี่ย ปีที่จบการศึกษา กรณีจบจากต่างประเทศให้บอกด้วยว่าประเทศอะไร และหากได้รับรางวัล เช่น เกียรตินิยม ก็ให้ระบุไว้ด้วย ในการเขียนประวัติการศึกษานี้ ขอแนะนำควรเขียนให้ครบถ้วน (สอดคล้องกับหลักฐานการศึกษาที่แนบมากับเรซูเม่) และควรทำเป็นตารางให้ดูง่าย อย่าเขียนบรรยายเป็นพรืด อ่านยาก

4. ประสบการณ์ทำงาน สำคัญมาก เพราะบริษัทส่วนมากต้องการหาคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว จึงต้องเขียนส่วนนี้ให้ดี การเขียนควรเริ่มจากบริษัทล่าสุดที่ทำงาน ไปจนถึงบริษัทแรกที่ทำงาน ในแต่ละบริษัทให้เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับ บริษัทย่อๆ (ชื่อ ประเภทธุรกิจ ที่ตั้ง จำนวนพนักงาน) ตำแหน่งงานที่ทำ (กรณีทำมาหลายตำแหน่ง ให้เริ่มจากตำแหน่งล่าสุดไปจนถึงตำแหน่งแรกที่เข้าทำงาน) ระยะเวลา หน้าที่ความรับผิดชอบ (ระบุเป็นข้อๆ เน้นที่เด่นๆ) ผลงานที่เด่น รวมถึงรางวัล เกียรติบัตรที่ได้รับระหว่างทำงาน เงินเดือน และสาเหตุที่ลาออก บางคนทำงานมานานหลายปี ไม่ได้จดรายละเอียดไว้ เมื่อจำเป็นต้องอัพเดทเรซูเม่เพื่อหางานใหม่ ก็จำไม่ได้แล้ว จึงขอแนะนำว่าคนทำงานทุกคนควรทำเรซูเม่เก็บไว้ แม้จะยังไม่คิดจะเปลี่ยนงาน และอัพเดทประสบการณ์ทำงานทุกครั้ง เพราะนั่นเป็นประวัติของเรา วันหนึ่งเราจะใช้ประโยชน์
     สำหรับคนที่เพิ่งจบใหม่ๆ มาถึงส่วนนี้ก็คงเครียดแล้ว ไม่รู้จะเขียนอะไร ขอแนะนำว่า ในระหว่างเรียนถ้าเคยไปฝึกงาน เคยทำงาน Part-time ทำงานช่วยอาจารย์ กิจกรรมของสถาบันการศึกษา ออกค่าย ฯลฯ มีอะไรเขียนให้หมด จะช่วยให้คุณดูน่าสนใจมากขึ้น

5. การฝึกอบรม (Training) ในระหว่างเรียน ระหว่างทำงาน เชื่อว่าคุณคงเคยเข้าฝึกอบรมมาแล้ว มากบ้างน้อยบ้าง คงต้องมีบ้างล่ะ ขอแนะนำว่าควรมีหัวข้อที่ระบุเกี่ยวกับการฝึกอบรมที่สำคัญๆ ไว้ด้วย ช่วยให้เราน่าสนใจมากขึ้น เริ่มจากหลักสูตรที่อบรมล่าสุด โดยให้ระบุชื่อหลักสูตรหรือหัวข้อฝึกอบรม หน่วยงานที่จัด ช่วงเวลาที่จัด ประกาศนียบัตรที่ได้รับ (ถ้ามี) การเขียนหัวข้อนี้ ก็อาจเป็นปัญหาสำหรับคนทำงานที่มักจะไม่ได้เก็บรายละเอียดไว้ พอจะเขียนก็จำไม่ได้แล้ว ก็ขอแนะนำไว้ว่าทุกครั้งที่ฝึกอบรมแล้ว ควรมาอัพเดทเรซูเม่ไว้

6. คุณสมบัติพิเศษ (Special Qualification) ส่วนนี้จะระบุเกี่ยวกับความสามารถต่างๆ ได้แก่ การใช้ภาษาต่างประเทศ (ฟัง พูด อ่าน เขียน ในระดับใด ดีมาก ดี หรือพอใจ) ความสามารถในการใช้โปรแกรม (ควรระบุรายละเอียด โดยเฉพาะตำแหน่งด้าน IT) ความสามารถอื่นๆที่ช่วยการทำงาน (เช่น graphic design, infographic, Powerpoint) ความสามารถด้านการขับขี่ ความเป็นเจ้าของยานพาหนะ (เป็นประโยชน์สำหรับบางตำแหน่ง) มีอะไรดีก็ควรบอกให้ละเอียด ควรเฉพาะที่เกี่ยวกับการทำงาน และต้องตรงกับความจริง พิสูจน์ได้


7) บุคคลอ้างอิง (Reference) เป็นบุคคลที่สามารถให้บริษัทตรวจสอบความสามารถ ประวัติและความประพฤติของเรา จึงต้องหาคนที่มีชื่อเสียง มีตำแหน่งที่น่าเชื่อถือ ควรมี 2-3 คน และไม่ควรเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติ อาจเป็นหัวหน้างานเก่า อาจารย์ เป็นต้น
การเลือกรูปแบบ และสีของเรซูเม่ นอกจากเนื้อหาสาระของเรซูเม่ซึ่งต้องถูกต้อง ครบถ้วน ทำเป็นข้อๆ และตาราง ให้เข้าใจง่าย แล้ว รูปแบบของเรซูเม่ก็สำคัญ ควรเลือกรูปแบบที่เรียบง่าย แบ่งสัดส่วนชัดเจน ไม่รกจนเกินไป เลือกฟอนต์ตัวอักษรที่อ่านง่าย แต่ถ้าสายงานคุณเกี่ยวข้องกับงาน Creative ต่างๆ ก็สามารถดีไซน์ตามไอเดียสร้างสรรค์ของคุณได้อย่างเต็มที่ได้เลย 


     การตั้งชื่อไฟล์ก่อนส่งนั้นก็สำคัญเหมือนกันควรตั้งชื่อไฟล์เป็น ชื่อของคุณ_Resume_ตำแหน่งงาน เซฟเป็นไฟล์สกุล docx หรือ PDF เพื่อให้เรซูเม่ของคุณชัดเจนและดูมืออาชีพมากยิ่งขึ้น



ทำได้อย่างที่บอก โอกาสการหางาน ได้ทำงานที่ใช่ ก็แค่เอื้อมแล้วล่ะ ขอให้โชคดีค่ะ


อัพเดตล่าสุดเมื่อ : 14 กันยายน 2565
ผู้อัพเดต : petchzst

ติดต่อเรา

ช่วยเหลือ
โทร : 02-216-1545
ติดต่อฝ่ายขาย
โทร : 062-224-4897 (ส้ม)
โทร : 062-224-4795 (เล็ก)
Line : @jobmyway
อีเมล์ : info@jobmyway.com
JobMyWay © สงวนลิขสิทธิ์ทั่วโลก