อัพเดทข่าว

เมื่อประกันสังคมมีแผนปรับขึ้นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม



นปี 2567 ผลประโยชน์ในการปรับขึ้นเงินสมทบประกันสังคมในครั้งนี้คืออะไร มนุษยเงินเดือนอย่างเรา “ปฏิเสธ” ไม่จ่ายเงินสมทบได้หรือไม่

       อย่างที่ทราบข่าวมาได้สักพักว่า มนุษย์เงินเดือน เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ทางกองทุนประกันสังคม หรือ สปส.โดยมีกระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแล มีนโยบายการปรับขึ้นเพดานเงินสมทบ ตั้งแต่ปี 2567 จากการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท แบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นสูงสุด 23,000 บาท ภายในปี 2573 จะทำให้เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,150 บาท โดยช่วงปี 2567-2569 เพดานเงินเดือน 17,500 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 875 บาท
       ในปี 2570-2572 เพดานเงินเดือน 20,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,000 บาท และปี 2573 เป็นต้นไป เพดานเงินเดือน 23,000 บาท จ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,150 บาท
       มนุษย์เงินเดือนต่างตกอกตกใจ จากจำนวนตัวเลขที่ปรับขึ้น และได้ลงความคิดเห็นในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ….. ตามที่กระทรวงแรงงานได้เปิดช่องทางแสดงความคิดเห็น อย่างล้นหลาม อีกทั้งยังเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับการปรับขึ้นเพดานการส่งเงินสมทบในครั้งนี้ ซึ่งการปรับขึ้นเพดานดังกล่าว ได้ถูกประกาศในช่วงเวลาที่ผ่านพ้นวิกฤตสถานการณ์ โควิด -19 ได้ไม่นาน และยังถือว่า วิกฤตการณ์ โควิด -19 นั้น ยังไม่กลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติโดยสิ้นเชิง ต่างมุ่งประเด็นไปที่  การปรับเพดานการส่งเงินส่งทบนั้น อาจเกี่ยวเนื่องจาก การที่กองทุนประกันสังคมขาดสภาพคล่องทางการเงินหรือไม่ อย่างไร

       โดย ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตจากกรณีดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
       “ ผู้ที่เกี่ยวข้องคิดกันอย่างไร ทำไมอยู่ๆ จะมีการปรับขึ้นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม คิดว่าไม่น่าจะโปร่งใส และมีการศึกษามากน้อยเพียงใด ควรให้คนรับรู้ถึงเหตุผล มีการทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกันตน ก่อนจะปรับขึ้นในอีก 3-5 ปี ไม่ใช่เริ่มในปี 2567
       การจะปรับขึ้นเงินสมทบ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกการจะปรับเพิ่ม หรือไม่ปรับเพิ่มนั้นไม่ใช่ประเด็น แต่อยู่ที่สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนพึงจะได้รับเพิ่ม จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ จากการมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบ และอีกส่วนหนึ่งต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายเพิ่มของแรงงานและมนุษย์เงินเดือนหรือไม่ จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อน เพราะความสามารถในการจ่ายเพิ่มของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

        กลุ่มแรงงานมองว่าการจะจ่ายเพิ่มได้ ต้องขึ้นอยู่กับค่าแรงจะต้องปรับขึ้นด้วย ตามสัดส่วนเงินสมทบที่จะปรับขึ้นไป หากปรับขึ้นค่าแรงก็คงไม่มีใครว่าอะไร และเหตุผลในการปรับขึ้นเงินสมทบเพราะอะไร หรือต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน หรือเพื่อปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์  ”
       มุมมองอีกด้านหนึ่ง สำหรับผู้ที่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นเพดานดานสมทบประกันสังคมในครั้งนี้ ต่างคาดหวังเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างเงินบำนาญชราภาพ การเข้ารักษาพยาบาล รวมถึง สวัสดิการอื่นๆ ให้สอดคล้องกับการปรับเพดานเงินสมทบในครั้งนี้

       การปรับเพดานเงินสมทบในครั้งนี้ จะมาพร้อมกับ สิทธิประโยชน์ที่ผู้ปนะกันตนมาตรา 33 จะได้รับ ทาง Jobmyway ได้หาคำตอบซึ่งได้ข้อสรุปดังนี้


สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างเงินบำนาญชราภาพ
เจ็บป่วย
ㆍปัจจุบัน (15,000 บาท) 250 บาทต่อวัน
ㆍปี 2567-2569 (17,500 บาท) 292 บาทต่อวัน
ㆍปี 2570-2572(20,000 บาท)333 บาทต่อวัน
ㆍปี 2573 เป็นต้นไป(23,000 บาท) 383 บาทต่อวัน

ว่างงาน
ㆍปัจจุบัน (15,000 บาท) 7,500 บาทต่อเดือน
ㆍปี 2567-2569 (17,500 บาท) 8,750 บาทต่อเดือน
ㆍปี 2570-2572(20,000 บาท) 10,000 บาทต่อเดือน
ㆍปี 2573 เป็นต้นไป (23,000 บาท) 11,500 บาทต่อเดือน

บำนาญ(ส่งเงินสมทบ 15 ปี)*
ㆍปัจจุบัน (15,000 บาท) 3,000 บาทต่อเดือน
ㆍปี 2567-2569(17,500 บาท) 3,500 บาทต่อเดือน
ㆍปี 2570-2572(20,000 บาท) 4,000 บาทต่อเดือน
ㆍปี 2573 เป็นต้นไป(23,000 บาท 4,600 บาทต่อเดือน

บำนาญ(ส่งเงินสมทบ 25 ปี)*
ㆍปัจจุบัน (15,000 บาท) 5,250 บาทต่อเดือน
ㆍปี 2567-2569 (17,500 บาท) 6,125 บาทต่อเดือน
ㆍปี 2570-2572(20,000 บาท)7,000 บาทต่อเดือน
ㆍปี 2573 เป็นต้นไป(23,000 บาท) 8,050 บาทต่อเดือน

*คำนวณจากสมมติฐานค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุเท่ากับเพดานค่าจ้างตามตาราง


และในปี 2566 นี้ ประกันสังคม ส่งมอบของขวัญปีใหม่ ให้ผู้ประกันตน

       นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้กล่าวถึงของขวัญปีใหม่ ที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม พร้อมมอบของขวัญปีใหม่ 2566 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พี่น้อง ผู้ประกันตน ลูกจ้าง นายจ้าง มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จำนวน 4 ชิ้น ดังนี้ คือ

       1. ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท วงเงิน 30,000 ล้านบาท สำนักงานประกันสังคม ได้จัดทำโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน โดยร่วมมือกับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่น และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับธนาคารเดิม โดยมีวงเงินโครงการ 30,000 ล้านบาท และปล่อยกู้ให้ผู้ประกันตนไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท และลดภาระดอกเบี้ยของผู้ประกันตนลดลงตลอดระยะเวลาการกู้ ดังนี้
       - ปีที่ 1 - 5 อัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี คงที่ 5 ปี             
       - ปีที่ 6 - 8 อัตราดอกเบี้ย MRR - 2.00% ต่อปี             
       - ปีที่ 9 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR - 0.5% ต่อปี
       ผู้ประกันตน สามารถยื่นขอสินเชื่อกับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2565 - 19 ธันวาคม 2566 หรือจนครบวงเงินที่ได้รับอนุมัติตามโครงการฯ สำหรับคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ สถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 12 เดือน ก่อนเดือนที่เข้าร่วมโครงการฯ
       2. ให้เข้าถึงการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด โดยมี การเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค ได้แก่
       ㆍโรคมะเร็งเต้านม
       ㆍก้อนเนื้อที่มดลูก
       ㆍโรคนิ่วในไตหรือ ถุงน้ำดี
       ㆍโรคหลอดเลือดสมอง
       ㆍโรคหัวใจและหลอดเลือด
       3. ฟรี ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการนำร่อง ใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ได้รับการตรวจสุขภาพ โดยใช้โมเดลเชิงรุก ดังนี้
       ㆍเน้นการค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ
       ㆍแบ่งกลุ่มตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง และน้อย
       ㆍโรงพยาบาลนัดหมายประเมินเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคลระยะเวลา 6 เดือน
       ㆍติดตามผลระบบ Telemedicine และดำเนินการปรับพฤติกรรม
       เป้าหมาย ผู้ประกันตน 300,000 คน ได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงด้านสุขภาวะ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการเจ็บป่วย เกิดต้นแบบด้านการบริการและป้องกันโรคในสถานประกอบการ โดยสามารถลดค่าใช้จ่าย ของ ผู้ประกันตน ต่อหัวเฉลี่ย รายละ 910 บาท (กลุ่มเสี่ยง) 340 บาท (กลุ่มไม่เสี่ยง) วงเงิน 187.50 ล้านบาท

       4. ลดเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามค่าประสบการณ์ของนายจ้าง สำนักงานประกันสังคมได้แก้ไขประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราส่วนการสูญเสีย ลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้มีเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสียอยู่ที่ 200 ส่งผลให้นายจ้างที่ถูกเรียกเก็บเงินสมทบตามอัตราค่าประสบการณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากอัตราเงินสมทบ ในปีที่ผ่านมา จ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาเพียงไม่เกิน 3 ปี จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสีย และการเรียกเก็บเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ดังกล่าวมีระยะเวลาสูงสุดถึง 22 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว (การแก้ไขหลักเกณฑ์ส่งผลให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง และทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 229.22 ล้านบาท)
มนุษยเงินเดือนอย่างเรา “ปฏิเสธ” ไม่จ่ายเงินสมทบได้หรือไม่
        แรงงานนั้นถูกบังคับตามกฎหมาย ให้ต้องส่งเงินสมทบ กองทุนประกันสังคม จึงไม่มีสิทธิเลือก หากจ่ายไม่ได้ก็หลุดจากกองทุน โดยกฎหมายประกันสังคม เป็นกฎหมายที่กำหนดการให้หลักประกันแก่บุคคลในสังคมที่มีปัญหา หรือ ความเดือดร้อนทางด้านการเงิน เนื่องจากการประสบเคราะห์ ภัย หรือมีเหตุการณ์อันทำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีพ ซึ่งต้องการได้รับความช่วยเหลือ ในลักษณะเฉลี่ยความเสี่ยง เฉลี่ยทุกข์สุขร่วมกันระหว่างประโยชน์ ในสังคมโดยการรวบรวมเงินเข้าเป็นกองทุนและจ่ายช่วยเหลือนั้นก็คือ ผู้ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนที่ได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขอันก่อให้เกิดสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง
       โดยขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายประกันสังคม
       ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
       ซึ่งได้บัญญัติ ความหมาย ดังนี้

        ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตรทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง
       กองทุนเงินทดแทน (เนื่องจากการทำงาน)  คือ กองทุนที่จ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหาย สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โดยไม่คำนึงถึงวันเวลาและสถานที่ แต่จะดูสาเหตุที่ทำให้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
       ทั้งนี้หากมนุษย์เงินเดือน ผู้ที่ประกันตนมาตรา 33 หรือมาตราอื่น ๆ มีข้อสงสัย ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506 หรือที่เว็บไซต์  www.sso.go.th

อัพเดตล่าสุดเมื่อ : 13 มีนาคม 2566
ผู้อัพเดต : petchzst

ติดต่อเรา

ช่วยเหลือ
โทร : 02-216-1545
ติดต่อฝ่ายขาย
โทร : 062-224-4897 (ส้ม)
โทร : 062-224-4795 (เล็ก)
Line : @jobmyway
อีเมล์ : info@jobmyway.com
JobMyWay © สงวนลิขสิทธิ์ทั่วโลก