ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน อัตราการว่างงาน บวกกับวิกฤตค่าครองชีพจากภาวะเงินเฟ้อที่ทั่วโลกต้องเจอในปีนี้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และสถาบันการเงินทั่วโลกประเมินสถานการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะเข้าสู่สภาวะถดถอยในวงกว้าง หรือ Recession ในปี 2023
โดย Morgan Stanley ระบุว่า เศรษฐกิจของอังกฤษและฝั่งยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ในขณะที่ Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ กล่าวว่าจากข้อมูลการศึกษาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 75 ปีที่ผ่านมาพบว่า หากอัตราเงินเฟ้อสูงเกิน 4% และอัตราการว่างงานต่ำกว่า 5% จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน
จากผลสำรวจของ Workplace Intelligence และ Amazon พบว่ากว่า 70% ของพนักงานที่สำรวจคิดว่าตนยังไม่พร้อมต่อการทำงานในอนาคต และ 71% กลัวว่าตัวเองยังขาดทักษะ ในขณะที่ 58% เชื่อว่าทักษะที่ตัวเองมีอยู่นั้นล้าหลังไปแล้วตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การที่แรงงานมีทักษะเท่าเดิมจึงไม่เพียงพออีกต่อไป ด้วยเหตุนี้แรงงานจึงต้องกลับมาประเมินตนเอง และอัพเกรดทักษะให้สอดรับกับความต้องการของโลกการทำงานในวันนี้
McKinsey Global Institute ได้วิจัยเกี่ยวกับทักษะพื้นฐานใหม่ของพลเมืองที่ภาครัฐจำเป็นต้องส่งเสริมพัฒนาให้กับทุกอาชีพ เพื่อสอดรับกับการทำงานในยุคดิจิทัลโดยเป้าหมายสำคัญ 3 ประการคือ
เพิ่มมูลค่าแรงงานให้มากเกินกว่าที่ระบบอัตโนมัติและ AI จะสามารถทำได้
แรงงานต้องสามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมดิจิทัล
แรงงานต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับวิธีการทำงานและอาชีพใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
ากเป้าหมายดังกล่าว จึงทำให้แรงงานจำเป็นต้องมีทักษะสำคัญหลัก ๆ ทั้ง 4 ด้าน คือ
ด้านความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำ: ประกอบด้วย ทักษะการคิดวิเคราะห์ การสื่อสารและการเล่าเรื่อง (Storytelling) ทักษะการวางแผนงาน และทักษะความยืดหยุ่นทางความคิด
ด้านความเป็นผู้นำ: ประกอบด้วย การสร้างทักษะในการมองเห็นตัวเองและตระหนักถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ (Self awareness) ทักษะจำเป็นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงแนวทางในการตั้งเป้าหมายในอาชีพของตน
ด้านการสร้างมนุษยสัมพันธ์: ประกอบด้วย ทักษะในการสร้างแรงขับเคลื่อนในการทำงาน เช่น การเป็นแบบอย่างที่ดี ทักษะการเจรจาต่อรองแบบให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win-win situation) ทักษะการสร้างความเป็นองค์กร และทักษะการสร้างความสัมพันธ์ เช่น ความเห็นอกเห็นใจและความสามารถในการเข้าใจว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร (Empathy) การเคารพสิทธิผู้อื่น รวมถึงทักษะในการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ เช่น การส่งเสริมความแตกต่างเฉพาะบุคคล การแก้ไขความขัดแย้งภายในทีม เป็นต้น
ด้านความรู้ทางด้านดิจิทัล: ประกอบไปด้วย ทักษะเพื่อเพิ่มความคล่องแคล่วในด้านดิจิทัล (Digital fluency) ทักษะความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital citizenship) เช่น ความรับผิดชอบในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้เหมาะสม หรือการรับมือกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบดิจิทัลในชีวิตประจำวัน ทักษะพื้นฐานในเชิงข้อมูล (Data literacy) และทักษะพื้นฐานในการป้องกันภัยไซเบอร์ (Cybersecurity literacy) จนไปถึงทักษะในการใช้และพัฒนาซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐาน เป็นต้น
การมีทักษะทางดิจิทัลที่สูงนั้นมีความสัมพันธ์กับรายได้ที่สูงขึ้นของแรงงาน รัฐบาลอังกฤษได้มีการวิจัยเกี่ยวกับความต้องการของทักษะดิจิทัลในปัจจุบัน โดยพบว่าทักษะดิจิทัลไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับงานที่ต้องใช้แรงงานทักษะสูงเท่านั้น แต่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งหมด โดยแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลสามารถเรียกเงินเดือนที่สูงขึ้นได้
โดยพบว่าตำแหน่งที่มีทักษะดิจิทัลจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่า 29% เมื่อเทียบกับตำแหน่งที่ไม่มีทักษะดิจิทัล โดยส่วนต่างของรายได้จะเพิ่มขึ้นตามระดับที่ต้องใช้ทักษะดิจิทัลสูงขึ้น ซึ่งมีตั้งแต่ 14% สำหรับตำแหน่งที่ใช้ทักษะดิจิทัลระดับพื้นฐาน 19% สำหรับทักษะปานกลาง และ 33% สำหรับทักษะขั้นสูง ในขณะที่การวิจัยของ RMIT ประเทศออสเตรเลียพบว่าเมื่อเปรียบเทียบข้อเสนอการจ้างงานของผู้ที่มีและไม่มีทักษะด้านดิจิทัล ผู้ที่มีทักษะด้านดิจิทัลจะได้รับค่าจ้างพิเศษมากกว่า 9% หรือราว 7,700 ดอลลาร์ต่อปี
ทั้งหมดนี้เป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับแรงงานในยุคนี้ ภาครัฐควรพิจารณาทบทวนและปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างแรงงานที่ตอบโจทย์ต่อตลาดแรงงานและสถานการณ์โลก ไม่เพียงแต่ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเท่านั้น
แต่ครอบคลุมไปถึงกลุ่มวัยทำงานที่อยู่ในตลาดแรงงานหรือหลุดจากตลาดแรงงานไปแล้วเช่นกัน เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงการฝึกอบรบและพัฒนาทักษะที่สำคัญได้ เพื่อให้สามารถปรับตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น และพร้อมรับกับทุกความไม่แน่นอนในโลกของการทำงานในภาวะ Recession ที่กำลังจะมาถึงนี้
สวัสดีปีใหม่ 2023 ล่วงหน้านะคะ
Cr.bangkokbiznews