เอเปค2022 : โอกาสประเทศไทย ท่ามกลางการจับตามองแค่ว่า ผู้นำชาติใดจะตอบรับมาบ้าง ไม่มาบ้างนั้น มีมิติทางเศรษฐกิจอะไรซ่อนอยู่ ในวงประชุมช่วงวันที่ 18-19 พ.ย.ที่จะถึงนี้
สังคมโลก กำลังจับตามอง ส่องสปอตไลท์ มาที่ประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพ จัด "การประชุมเอเปค 2022" หรือ การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย - แปซิฟิก (APEC 2022) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีประเทศสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ช่วงวันที่ 18-19 พ.ย.ที่จะถึงนี้
เอเปครอบนี้ เป็นโอกาสของประเทศไทยในการแสดงศักยภาพในการจัดการประชุมระดับโลก ที่หลายคนอาจจะรอลุ้นแค่ว่า จะมีผู้นำชาติมหาอำนาจคนไหนมาบ้าง ไม่มาบ้าง บนบริบทของความขัดแย้งโลกที่มีรากเหง้าอยู่เดิม เกินกว่าไทยแลนด์จะไปคอนโทรลมหาอำนาจเหล่านั้นได้ แต่ที่ชวนให้มองอีกมิติ คือ เป็นการประชุมระดับโลกภายหลังวิกฤตโควิดบนผืนแผ่นดินไทย ที่เป็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะนอกจากจะมีผู้นำโลกมาเยือนแล้ว ยังมีภาคเอกชนระดับโลกมาร่วมวงในครั้งนี้ด้วย
อย่าลืมว่าโควิด ทำลายเศรษฐกิจทั้งโลกหยุดชะงัก มีหลายกิจการต้องปิดตัว คนตกงานจำนวนมหาศาล ยังมีผู้ว่าว่างงานอีกมหาศาล ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ไทยเปิดประตูให้ภาคธุรกิจใช้เวทีเอเปคเปิดเวทีหารือ สร้างเครือข่าย ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะระหว่างผู้นำกับภาคธุรกิจ ที่มี 2 เวที คือ
1. การประชุม APEC CEO Summit Thailand 2022 ซึ่งจะเป็นการพูดคุยประเด็นด้านธุรกิจ กับผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจในกลุ่มเอเปค และ CEO ของบริษัทต่าง ๆ เพื่อสร้างเครือข่าย และลดความท้าทายของภูมิภาค และด้วยภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายอื่นๆ
2. สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council (ABAC)) ซึ่งจะเป็นเวทีให้ได้เสนอแผนของการดำเนินธุรกิจ เพื่อการฟื้นตัวในช่วงหลังโควิด
สิ่งที่จะได้เห็นจากวงธุรกิจคือ แนวทางในการสนับสนุนธุรกิจ ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังเป็นพื้นที่หารือถึงแนวทางใหม่ ๆ ที่เป็นการฟื้นฟู ปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค ที่มีทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
2.การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กพัฒนาได้เร็วขึ้น การมีทักษะดิจิทัลจะทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่า
3.การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้
4.การรับมือกับตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป การสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่สนับสนุนสตาร์ทอัพ ส่งเสริมนวัตกรรม
เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก
และถ้าให้ยกตัวอย่างเป็นน้ำจิ้มอีกไฮไลท์ ให้ย้อนไปก่อนหน้านี้ ในการฟื้นความสัมพันธ์กับ ซาอุดิอะราเบีย ที่มีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น
ก็ยังมีการต่อยอดปักหมุดความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุ ในเวทีเอเปคครั้งนี้ด้วย เพราะจะมีการลงนามในเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ เกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ประกอบด้วย
1.แผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
(พ.ศ.2565- 2567)
2.บันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย
3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
เอกสารทั้ง 3 ฉบับนี้ จะมีการลงนามระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด และนายกรัฐมนตรีชาอุดีอาระเบีย ในการประชุมเอเปค ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ ตอบคำถามว่าประเทศไทยได้อะไรจากเอเปคครั้งนี้
Cr. komchadluek