กระทรวงสาธารณสุขเคาะมาตรการโควิด โรคเฝ้าระวัง เริ่ม 1 ตุลาคม อาการน้อยไม่ต้องกักตัว เข้มป้องกัน 5 วัน ก่อนเข้าประเทศ ยกเลิกแสดงเอกสารวัคซีนหรือผลตรวจ ATK
วันที่ 22 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2565 วานนี้ (21 ก.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย โดยผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง
ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัดซีนโควิด-19 ครอบคลุมมากกว่า 82% และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ แต่ยังคงมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคจำนวนหนึ่งที่ต้องขอให้มารับวัคซีนให้ครบ เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่เป็นปกติมากที่สุด
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จะปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ ให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ภายใต้การพิจารณาอย่างสมดุล ทั้งมุมมองด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 2 เรื่อง 1.แผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ต.ค. 2565 – ก.ย. 2566) เนื่องจากได้ลงนามยกเลิกโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 57 และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป
สำหรับแผนมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมโรค 2) ด้านการแพทย์และรักษาพยาบาล 3) ด้านการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ และข้อมูลสารสนเทศ และ 4) ด้านบริหารจัดการ กฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป และให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าวให้เกิดความพร้อมทุกด้าน โดยจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจประกาศพื้นที่โรคระบาดตามความจำเป็น
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยก่อนเข้าประเทศ ยกเลิกแสดงเอกสารวัคซีนหรือผลตรวจ ATK ยกเว้นโรคไข้เหลือง, ยกเลิกการสุ่มตรวจสอบบันทึกการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยยังคงเฝ้าระวังผู้เดินทางที่มีอาการป่วยของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคติดต่ออุบัติใหม่
“ปรับมาตรการแยกกักสำหรับผู้ป่วยอาการน้อย/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ ให้ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ และตรวจ ATK เมื่อมีอาการ ส่วนประชาชนทั่วไปให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันตนเองเมื่อเข้าไปในสถานที่มีผู้คนแออัดหรืออากาศไม่ถ่ายเท และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ
และแนะนำหน่วยงานองค์กรคัดกรองอาการป่วยพนักงานเป็นประจำ หากจำเป็นอาจตรวจคัดกรองด้วย ATK ในพนักงานป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจได้ และใช้หลัก COVID Free Setting” นายอนุทินกล่าว และว่า
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบอีก 4 เรื่อง คือ 1.การให้วัคซีนไฟเซอร์เด็กอายุ 6 เดือน–4 ปี คาดว่าเริ่มให้บริการได้ช่วงกลาง ต.ค. 2565 ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก ไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน แต่แนะนำให้เด็กทุกคนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต
2.แนวทางการใช้ LAAB ที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติม 3.แนวทางเวชปฏิบัติดูแลรักษาโควิด 19 หลังการระบาดใหญ่ (Post-pandemic) ประชาชนใช้สิทธิการรักษาเช่นเดียวกับโรคทั่วไป ได้รับยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษาล่าสุด รวมถึงแยกกักผู้ป่วยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ระยะต่อไป
และ 4.โครงการการใช้ยาคลอโรควินเพื่อป้องกันและลดการแพร่เชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ ในพื้นที่ที่มีการระบาดบริเวณชายแดนไทย–เมียนมา
เมื่อถามว่าผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ไม่ต้องแยกกักแล้วใช่หรือไม่ สามารถไปทำงานได้ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็ให้เข้ม DMHT
เมื่อถามต่อว่าจะต้องเสนอ ศบค.หรือไม่และเริ่มเมื่อไร นายอนุทิน กล่าวว่า ก็จะรายงานให้ ศบค.รับทราบ โดยแผนปฏิบัติการและมาตรการจะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค.
เมื่อถามว่าต้องยกเลิกการสวมหน้ากากหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังควรสวมหน้ากาก แต่ให้ประเมินตามความเสี่ยงเช่นเดิม หากคิดว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เสี่ยงก็สามารถถอดได้ เช่น วิ่งในสวนสาธารณะ เว้นระยะห่างจากคนอื่นแล้ว
เมื่อถามอีกว่าเรื่องสิทธิการรักษาหลังวันที่ 1 ต.ค.เป็นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ยังเข้ารักษาฟรีตามสิทธิดังเดิม ส่วนกลุ่มที่วิกฤตก็ใช้สิทธิยูเซปพลัสได้
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ว่าที่อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีแดง เช่น หายใจล้มเหลว หรือความดันตก ยังคงมีสิทธิของ UCEP Plus คือเข้ารักษาได้ทุกสถานพยาบาล และให้รับรักษาจนหาย ซึ่งจะต่างจาก UCEP ทั่วไปที่จะรักษาจนพ้นภาวะวิกฤติและส่งกลับสถานพยาบาลตามสิทธิใน 72 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) ศบค.ชุดใหญ่ จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ในรวม และพิจารณามาตรการที่เหมาะสมต่อไป
Cr. prachachat