เส้นทางฟื้นฟูหรือซ่อมสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบและใช้เวลาเพียงระยะสั้น ๆ แต่คงจะเป็นดงหนามที่จะต้องร่วมกันฝ่าฟันให้ก้าวพ้นออกไปให้ได้
** คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
สำหรับภาคธุรกิจ คงจะเริ่มหายใจหายคอกันได้ดีขึ้นเมื่อรัฐบาลตัดสินใจประกาศเปิดประเทศและผ่อนปรนมาตรการจำกัดทางด้านเศรษฐกิจไปจนเกือบจะทุกมาตรการโดยคงไว้เฉพาะมาตรการที่จำเป็นในบางพื้นที่ที่ยังมีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดของโรค กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มขยับขยายเกิดขึ้นได้มากขึ้นจนมีความหวังและคาดหวังกันว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ พลิกฟื้นและขยายตัวได้มากขึ้นในไตรมาสถัด ๆ ไป (หลายหน่วยงานคาดการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ 0.5-1% และจะสามารถขยายตัวได้ 4% หรือมากกว่าในปี 2565) มุมมองในทางที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยสะท้อนให้เห็นได้จากทั้งดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมามาก ภาคการผลิตมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะลงทุนเพื่อผลิตสินค้า ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้นที่จะสามารถสร้างรายได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงพร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสัญญาณที่จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ (อาจจะเรียกอย่างที่หลายท่านได้พูดกันว่า “เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว”) อย่างไรก็ตาม เส้นทางในการฟื้นฟูหรือซ่อมสร้างเศรษฐกิจของไทยคงจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบและใช้เวลาเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น แต่คงจะเป็นดงหนามที่จะต้องร่วมกันฝ่าฟันให้ก้าวพ้นออกไปให้ได้ ผู้เขียนจึงอยากหยิบยกตัวอย่าง (พร้อมคำอธิบายสั้น ๆ) ของความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจเพียงแค่ในระยะสั้น 1-2 ปีข้างหน้าที่เราจะต้องร่วมกันคบคิดว่าจะรับมือกันอย่างไรจึงจะเหมาะสม ดังนี้
ความติดขัดของระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่มูลค่าโลก (Logistic Squeeze)
ภาคการส่งออกและการลงทุน (ทั้งการลงทุนภายในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศ) เป็นภาคเศรษฐกิจที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจเพราะการขยายตัวของมูลค่าการค้าโลกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในกลุ่มคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การหยุดชะงักหรือการชะลอตัวของกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอุปสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากันทั้งในแง่ขนาดของมาตรการทางการคลังและช่วงเวลาของการใช้มาตรการ ทำให้เกิดความติดขัด ล่าช้าในกระบวนการทางด้านโลจิสติกส์ทั้งในระดับภายในประเทศและเชื่อมโยงไปถึงระหว่างประเทศ เช่น การบริหารจัดการการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ เช่น การเพิ่มขึ้นของปริมาณงานในท่าเรือที่เป็นเส้นทางเดินเรือหลักของโลกและในหลายภูมิภาค การเพิ่มขึ้นของกระบวนการพิธีการทางด้านการตรวจปล่อยสินค้าจากมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันการระบาดของโรครอบใหม่ ฯลฯ จนกลายเป็นคอขวดในระบบห่วงโซ่อุปทานโลกจากปัญหาการขนส่งทางเรือผลกระทบต่อประเทศไทยในส่วนประกอบด้วย (1) การผูกขาดราคาค่าขนส่งทางเรือในตลาดผู้ให้บริการการขนส่งระหว่างประเทศ (2) ความล่าช้าจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของปริมาณตู้ขนส่งในท่าเรือหลักของโลก (ประสิทธิภาพการจัดการตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือลดลงจากการระบาดของโรค) (3) ราคาค่าขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 40% รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าประกันภัยทางทะเล ค่าประกันสินค้าที่ขนส่งทางทะเล ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์สำหรับการส่งออกของประเทศต้องปรับเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของการส่งออกของประเทศ ในแง่มุมนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพในหลาย ๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าภาคการส่งออกจะสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด
ความตึงตัวของตลาดการเงิน (Monetary Tightening)
แนวโน้มการตึงตัวของตลาดการเงินจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายน้อยลงของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งดำเนินการในรูปแบบการลดปริมาณการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบผ่านมาตรการ QE ประกอบกับการที่ประเทศต่าง ๆ มีการออกมาตรการทางการคลังเพื่อการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวนมาก ส่งผลกระทบให้เกิดการตึงตัวในตลาดการเงินทั่วโลก สำหรับประเทศไทย แม้ว่าสภาพคล่องในระบบการเงินภายในประเทศจะมีเพียงพอต่อการรองรับการก่อหนี้ของภาครัฐ (7 แสนล้านบาทจากการขาดดุลงบประมาณ และอีก 5 แสนล้านบาทตามกรอบวงเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ) แต่การตึงตัวของตลาดการเงินทำให้มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงิน (แม้ดอกเบี้ยนโยบายจะยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมที่ถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้น และสถาบันการเงินภายในประเทศมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loan: NPL) ในช่วงที่ผ่านมาจากการระบาดของโควิด-19 ความเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินเป็นอุปสรรคทั้งต่อการลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าคงทน แนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินอาจจะเป็นแรงต้านต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนเพื่อสร้างกิจกรรม และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม
เยอรมนีอาจต้องล็อกดาวน์คนไม่ฉีดวัคซีน หลังโควิดพุ่งทะลุ 5 หมื่นต่อวัน
Pfizer แบ่งสูตรผลิตยาเม็ดต้านโควิด 95 ประเทศ ไร้ชื่อไทย
ค่าครองชีพที่สูงขึ้น (Rising Cost of Living)
ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่เพิ่มขึ้น (อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะไม่สูงขึ้น) และการเพิ่มขึ้นของราคาโภคภัณฑ์โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน (ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน เป็นต้น) วัสดุก่อสร้าง และสินแร่ที่จำเป็นในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอุปทานในระยะสั้น (Short-term surge of demand) โดยเฉพาะในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (สหรัฐอเมริกา และจีน) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน (Uneven economic recovery) กดดันให้ประเทศที่มีการฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่นต้องมีส่วนในการแบกรับภาวะเงินเฟ้อที่ถูกส่งผ่านมาจากประเทศที่ฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่า ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในวงกว้างโดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องปรับตัวมากไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ (ปรับเปลี่ยนอาชีพ ปรับเปลี่ยนทักษะ มีการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ ฯลฯ) และกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนและผู้ว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก แรงงานจำนวนหนึ่งยังคงต้องแข่งขันในตลาดแรงงานกับแรงงานต่างด้าวที่ยอมทำงานในลักษณะเดียวกันด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่า การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพยังเป็นแรงกดดันต่อต้นทุนในภาคการผลิตอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยก็คาดหวังว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากเปิดประเทศ ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทำให้การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมีราคาแพงขึ้น นักท่องเที่ยว (ซึ่งมีต้นทุนในการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากอยู่แล้วจากมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่จำเป็นต้องมีเพิ่มขึ้นสำหรับการเดินทาง) ต้องจ่ายมากขึ้นสำหรับการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่งผลให้ความน่าสนใจในการท่องเที่ยวในประเทศไทยลดลง และนักท่องเที่ยวมีทางเลือกมากขึ้นในการเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศอื่น (ซึ่งอาจจะราคาถูกกว่า) ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ รายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดหวังว่าจะมาสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็อาจจะไม่เกิดขึ้นตามที่คาดหวังไว้
หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้สาธารณะ (Household and Public Debt)
แนวโน้มหนี้ภาคครัวเรือน และหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายทางการคลังเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผลกระทบของการระบาดสร้างข้อจำกัดในการสร้างรายได้ของภาคครัวเรือน ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการชำระหนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนทำให้มีความยากลำบากในการใช้มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาระการพึ่งพาภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Track Economy) ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว การสร้างให้เกิดแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภายในประเทศจึงต้องอาศัยมาตรการในการสร้างรายได้โดยเฉพาะในระดับครัวเรือน ยิ่งถ้าต้องการให้การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจมีการกระจายอย่างทั่วถึงในทุกภาคส่วน ทุกภูมิภาค (Inclusive Growth or Recovery) การบรรเทาภาระการชำระหนี้หรือการพักการชำระหนี้จะเป็นเพียงมาตรการชะลอความเดือดร้อนในระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวยังคงต้องมีมาตรการในการสร้างเสริมขีดความสามารถในการสร้างรายได้ การเพิ่มความเชื่อมั่นในภาคครัวเรือนในการใช้จ่ายด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างรายได้ที่มั่นคงทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในขณะเดียวกัน มาตรการทางการคลังของภาครัฐก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกันจากระดับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาครัฐต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การบริหารจัดการทางการคลังให้มีประสิทธิภาพในระยะของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจึงเป็นความท้าทายสำคัญเพื่อให้มีเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่เพียงพอต่อการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ได้ตามศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่ภาคครัวเรือนมีความอ่อนแอจากภาระหนี้สะสมที่กดทับเพิ่มเติมมากขึ้นในช่วงที่มีการใช้มาตรการทางด้านสาธารณสุขเพื่อจำกัดการระบาดของโรค ความเสี่ยงในเสี่ยงที่สำคัญคงจะอยู่ว่าเศรษฐกิจจะสามารถช่วยเหลือ รักษา และฟื้นฟูภาคครัวเรือนให้กลับมาเข้มแข็งได้มากน้อยเพียงใด ในระยะเวลาที่รวดเร็วแค่ไหน
ความลักลั่นของการฟื้นตัว (Lacking or Uneven Capability to Recover)
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ถ่างกว้างมากขึ้นในหลายมิติทั้งก่อนหน้าและจากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่บั่นทอนประสิทธิภาพของนโยบายทางเศรษฐกิจและศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในทำนองเดียวกัน ย่อมมีผลทำให้การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลงได้เมื่อแรงงานจำนวนไม่น้อยในระบบเศรษฐกิจขาดความสามารถในการปรับตัวหรือพัฒนาทักษะใหม่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ และความมั่งคั่งภายในประเทศจะทำให้คนกลุ่มคนจน คนที่มีทักษะไม่เพียงพอมีแนวโน้มที่จะถูกทิ้งห่างมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อสะสมนานเข้าจึงก่อให้เกิดความเสียหายในรูปแบบของปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้สูงที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะมีลักษณะเป็นการฟื้นตัวแบบตัว K คือบางภาคเศรษฐกิจที่สามารถปรับตัวได้ดี จะสามารถฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว แต่จะมีภาคเศรษฐกิจอีกจำนวนหนึ่ง (ส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมที่สามารถมูลค่าเพิ่มได้ไม่มาก) ไม่สามารถปรับตัวได้หรือต้องใช้เวลามากในการลงทุนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจไปสู่รูปแบบของเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมากขึ้น อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้นในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มน้อย พิจารณาจากความต้องการแรงงานต่างด้าวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะแรกของการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคสะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศยังมีความเสี่ยงต่อการปรับตัวในระยะต่อไปเมื่อประเทศหลายประเทศต่างเร่งขับเคลื่อนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจมากขึ้น การแข่งขันในตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป (ซึ่งน่าจะมาถึงในเวลาไม่นาน) กดดันให้เศรษฐกิจของประเทศต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาผลิตภาพการผลิตให้สามารถรักษาระดับของขีดความสามารถในการแข่งขันไว้ให้ได้ ความเสี่ยงในส่วนนี้จึงเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทยที่จะสามารถยกระดับความมีประสิทธิภาพ และเพิ่มผลิตภาพการผลิตของปัจจัยการผลิตภายในประเทศได้มากน้อยเพียงใดในกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องสามารถดึงให้แรงงาน และทุกภาคส่วนในประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของประเทศและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค มีความเป็นไปได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำอาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการฉุดรั้งการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจให้ล่าช้าหรือกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของเศรษฐกิจไทยต่อไปได้ในอนาคต
Cr. posttoday