ภาษี เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อยู่แล้ว เมื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ ปัญหาเกิดขึ้นคือเราไม่แน่ใจว่าธุรกิจของเราจัดอยู่ในภาษีประเภทใด ในเมื่อเราเลือกที่จะเป็นผู้ประกอบการแล้วควรศึกษาเรื่องนี้ให้มั่นใจ ถ้าเรามีความรู้เรื่องภาษีแล้วยังช่วยให้เราไม่มีปัญหาด้านบัญชีด้วยเพราะเราสามารถทำลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
ภาษีที่เราต้องจ่ายสำหรับทำธุรกิจจัดเป็นภาษีทางตรง คือ ภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บจากรายได้และทรัพย์สินต่างๆ ของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยไม่สามารถผลักภาระภาษีไปยังผู้อื่นได้ ไม่เหมือนกับภาษีทางอ้อมที่รัฐเก็บจากผู้บริโภคแทนผู้ขาย โดยภาษีทางตรงแบ่งออกเป็นหลายประเภท ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจมีดังต่อไปนี้
1.ภาษีเงินได้
ภาษีเงินได้ ก็คือภาษีที่เก็บจากคนที่มีรายได้ แบ่งเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะขึ้นอยู่กับการจดทะเบียนบริษัทของเรา
1.1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าเราทำธุรกิจโดยที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล เราก็ต้องเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา ซึ่งมีข้อกำหนดให้ยื่นภาษี 2 ครั้งในแต่ละปี คือภาษีครึ่งปีโดยใช้ ภ.ง.ด.94 และภาษีเงินได้ประจำปีโดยใช้ ภ.ง.ด.90 แตกต่างจากคนที่เป็นพนักงานเงินเดือนที่มีรายได้จากเงินเดือน ซึ่งจะยื่นครั้งเดียวเป็นภาษีเงินได้ประจำปีโดยใช้ ภ.ง.ด.91 แทน
1.2) ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับคนที่จดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล เราก็ต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องยื่น 2 ครั้งต่อปี คือภาษีเงินได้ครึ่งปีโดยใช้ ภ.ง.ด. 51 และภาษีเงินได้ประจำปีโดยใช้ ภ.ง.ด.50
2.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย มีความหมายตามชื่อ คือ “ภาษีที่หัก ณ ที่จ่าย” ทุกครั้งเมื่อมีการจ่ายเงินตามเงื่อนไขผู้ที่ทำการจ่ายเงินต้องหักเงินเพื่อจ่ายภาษีให้กับรัฐ ภาษีนี้มีหน้าที่ช่วยทยอยลดภาระภาษีเงินได้ของผู้รับเงินในตอนปลายปีเพื่อไม่ให้ต้องเสียภาษีก้อนใหญ่ทีเดียว (อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อสรรพากร เพราะผู้รับเงินหลายคนไม่ขอคืนภาษีส่วนนี้)
อัตราการหักภาษีจากเงินที่จ่ายก็แตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะจ่ายให้กับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งสรรพากรด้วย ซึ่งในทางกลับกันเงินที่เรารับจากลูกค้าก็ต้องผ่านการหัก ณ ที่จ่ายมาก่อนแล้วด้วย โดยเงินที่ถูกหักไปจะถูกแทนที่ด้วยกระดาษที่เรียกว่า “หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย” ซึ่งผู้ถูกหัก ณ ที่จ่ายสามารถขอคืนหรือลดภาษีจากรัฐตอนสิ้นปีได้
แบบฟอร์มที่ต้องใช้ในการส่งภาษีแบ่งได้หลายประเภท ถ้าจ่ายให้กับบุคคลธรรมดาก็จะใช้ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3 ถ้าจ่ายให้นิติบุคคลก็จะเป็น ภ.ง.ด.53, ภ.ง.ด.54
3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เราทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT กันมากที่สุด ภาษีนี้เก็บเพิ่มจากราคาสินค้าหรือบริการที่คิดกับลูกค้า โดยผู้ขายที่จดทะเบียน VAT มีหน้าที่ต้องเรียกภาษีเพิ่ม 7% จากราคาขายและเรียกว่า ‘ภาษีขาย’ และในฐานะผู้ซื้อจะเรียกภาษีนี้ว่า ‘ภาษีซื้อ’
ถ้าเราอยู่ในระบบ VAT เราก็ต้องจ่ายภาษีในเวลาที่สรรพากรกำหนด เช่น วันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยคำนวณจากยอดภาษีขายหักออกด้วยยอดภาษีซื้อ ในกรณีที่ภาษีซื้อมีมูลค่ามากกว่าภาษีขาย เราสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จากสรรพากร หรือจะเก็บไว้หักลบกับภาษีขายในเดือนถัดไป
เราสามารถยื่นภาษีมูลค่าได้โดยใช้ 2 แบบฟอร์ม ก็คือ ภ.พ.30 สำหรับการซื้อขายกับผู้ประกอบการในไทย และ ภ.พ.36 สำหรับการซื้อขายกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ เช่นค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ
4.ภาษีสรรพสามิต
ภาษีสรรพสามิตเรียกเก็บจากสินค้า/บริการบางประเภทที่ถูกนิยามว่า ‘ทำลายสังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม’ เช่นบุหรี่ เหล้า ไพ่ น้ำมัน อาบอบนวด รถยนต์พาหนะ หรือสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ เช่น น้ำหอม สนามกอล์ฟ พรมขนสัตว์ กลุ่มภาษีนี้ต้องแจ้งงบรายเดือนให้กับสรรพสามิตภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน
5.อากรแสตมป์
อากรแสตมป์ คือภาษีที่ต้องเสียเมื่อทำธุรกรรมบางอย่าง (มีด้วยกัน 28 อย่าง) เช่นสัญญาเช่าที่ เช่าซื้อ จ้างทำของ หรือการกู้ยืมเงินเป็นต้น โดยมีผู้ให้เช่าหรือผู้ให้กู้เป็นผู้เสียภาษี โดยสามารถชำระเป็นอากร (ซื้อได้ที่กรมสรรพากร) หรือเป็นเงินสด (ในตราสารบางประเภท และต้องขออนุมัติด้วย อ.ส.4 ก่อน)
ในปีนี้กำลังจะผ่านไปในไม่ช้า ใครหลายคนคงกำลังทบทวนอะไรหลายอย่าง ตั้งแต่ธุรกิจ การเงิน สุขภาพ และเรื่องต่างๆ ในชีวิต เช่นเดียวกันกับคนทำธุรกิจออนไลน์หลายคนที่คงได้บทเรียนและข้อคิดดีๆ ในปีนี้อีกมากมายจากการเรียนรู้เริ่มต้นการทำธุรกิจ
Cr. PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์