แนะเส้นทาง "ลัด-เลี่ยง" หนีรถติดถนนสายหลัก สงกรานต์ปี 2564
เช็กก่อนเดินทาง เส้นทาง "ลัด-เลี่ยง" หนีรถติด สงกรานต์ ปี 64
เส้นทางเลี่ยงรถติด สงกรานต์ ปี 64 บนถนนสาย "หลัก-รอง" จากกรมทางหลวง
ใครกำลังมีแพลนออกต่างจังหวัดช่วง "สงกรานต์" ต้องวางแผนการเดินทางให้ดี ไม่งั้นติดแหงกบนท้องถนน ได้พาลหงุดหงิดอารมณ์เสียแน่นอน ยิ่งบวกความร้อนของเดือน เม.ย.ไปอีก ไม่ต้องคิดเลยจะปรี๊ดแตกแค่ไหน!!! ดังนั้นวันนี้เราจะมาแนะนำเส้นทาง "ลัด-เลี่ยง" หลีกหนี "รถติด" บนท้องถนนช่วง "สงกรานต์" วิ่งเส้นไหนมีสิทธิ์รอด "ความแออัด" น่าหงุดหงิด-เสียเวลาบ้าง
สำหรับ "สงกรานต์" ปีนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง และหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด "กรมทางหลวง" จึงแนะนำเส้นทางเลี่ยง-ทางเลือกบนทางหลวง "สายหลัก-สายรอง" เพื่อช่วยให้ประชาชนวางแผนการเดินทางล่วงหน้า ก่อนล้อหมุน Let’s go !!! ดังนี้
กรุงเทพฯ–ภาคเหนือ
เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯ ไปรังสิต (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)–จ.พระนครศรีอยุธยา–จ.อ่างทอง–จ.สิงห์บุรี (ทางหลวงหมายเลข 32 ถนนสายเอเชีย)–อ.มโนรมย์ (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน) จากนั้นมุ่งหน้าสู่ จ.นครสวรรค์
เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯ ไป จ.นนทบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง–สุพรรณบุรี)–จ.สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340 สุพรรณบุรี–ชัยนาท)–จ.ชัยนาท (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน) จากนั้น มุ่งหน้าสู่ จ.นครสวรรค์
เส้นทางที่ 3 จากกรุงเทพฯ ไป รังสิต–อ.วังน้อย–จ.สระบุรี–จ.ลพบุรี (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)–อ.ตากฟ้า (ทางหลวงหมายเลข 11) จากนั้นมุ่งหน้าสู่ จ.พิษณุโลก
เส้นทางที่ 4 จากกรุงเทพฯ ไปรังสิต–ต่างระดับคลองหลวง (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)–เชียงรากน้อย (ทางหลวงหมายเลข 3214)–ทางหลวงหมายเลข 347 จากนั้นมุ่งหน้าสู่ทางหลวงหมายเลข 32 เข้าสู่ภาคเหนือเส้นทางที่ 5 จากกรุงเทพฯ ไปวงแหวนตะวันออก (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9)–ต่างระดับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)–อ.วังน้อย (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)–ถนนโรจนะ (ทางหลวงหมายเลข 309) จากนั้นมุ่งหน้าสู่ทางหลวงหมายเลข 32 เข้าสู่ภาคเหนือ
กรุงเทพฯ–ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯ ไป จ.สระบุรี (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)–ต.ม่วงค่อม (ทางหลวงหมายเลข 21)–ต.ห้วยบง อ.เฉลิมพระเกียรติ (ทางหลวงหมายเลข 2256)–อ.สีคิ้ว (ทางหลวงหมายเลข 201)–อ.ด่านขุนทด (ทางหลวงหมายเลข 2148)–อ.ขามทะเลสอ (ทางหลวงหมายเลข 2068)–ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา
เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯ ไป อ.วังน้อย (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)–จ.สระบุรี–อ.ปากช่อง–อ.สีคิ้ว (ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ) จากนั้นมุ่งหน้าสู่ จ.นครราชสีมา
เส้นทางที่ 3 จากกรุงเทพฯ ไป จ.นครนายก (ทางหลวงหมายเลข 305)–อ.บ้านนา (ทางหลวงหมายเลข 3051)–อ.แก่งคอย (ทางหลวงหมายเลข 3222)–อ.ปากช่อง (ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา หรือจาก อ.บ้านนาไร่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 33มุ่งหน้าสู่ อ.กบินทร์บุรี สู่ อ.อรัญประเทศ
เส้นทางที่ 4 จากกรุงเทพฯ ไป จ.ฉะเชิงเทรา (ทางหลวงหมายเลข 314 หรือทางหลวงหมายเลข 304)–อ.พนมสารคาม–อ.กบินทร์บุรี–อ.วังน้ำเขียว–อ.ปักธงชัย (ทางหลวงหมายเลข304) จากนั้นมุ่งหน้าสู่ จ.นครราชสีมา
กรุงเทพฯ–ภาคตะวันออก
เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯไป จ.ชลบุรี (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ–ชลบุรี–พัทยา)
เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯ ไป อ.บางปะกง (ทางหลวงหมายเลข 34 ถนนบางนา-ตราด) จากนั้นมุ่งหน้าสู่ จ.ชลบุรี โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท
เส้นทางที่ 3 จากกรุงเทพฯ ไป อ.พนัสนิคม–จ.ชลบุรี (ทางหลวงหมายเลข 304)
กรุงเทพฯ–ภาคใต้
เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯ ไป จ.สมุทรสาคร–จ.สมุทรสงคราม (ทางหลวงหมายเลข 35)–แยกวังมะนาว–จ.เพชรบุรี (ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม) จากนั้นมุ่งหน้าสู่ จ.ประจวบคีรีขันธ์
เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯ ไป อ.สามพราน–อ.นครชัยศรี–จ.นครปฐม–จ.ราชบุรี–แยกวังมะนาว–จ.เพชรบุรี (ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม) จากนั้นมุ่งหน้าสู่ จ.ประจวบคีรีขันธ์
เส้นทางที่ 3 จากกรุงเทพฯ ไป ถนนบรมราชชนนี (ทางหลวงหมายเลข 338 ปิ่นเกล้า–นครชัยศรี)–อ.นครชัยศรี–จ.นครปฐม–จ.ราชบุรี–แยกวังมะนาว–จ.เพชรบุรี (ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม) จากนั้นมุ่งหน้าสู่ จ.ประจวบคีรีขันธ์
"หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติม หรือแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายระหว่างเดินทาง สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง) สายด่วนมอเตอร์เวย์ 1586 กด 7 และตำรวจทางหลวง 1193"
คาดพีคสุด รถออก กทม.วันละเฉียดล้าน-กลับเฉียด 7 แสนคัน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย.นี้ คาดการณ์แนวโน้มปริมาณการจราจรเดินทางต่างจังหวัด เพื่อเตรียมหาแนวทางบริหารจัดการเวลาการเดินทางบนถนน ซึ่งได้ข้อสรุปจะขอความร่วมมือประชาชนวางแผนเวลาเดินทางเหลื่อมเวลาภายใต้มาตรการ "บ้านใกล้เดินทางออกทีหลัง และเดินทางกลับก่อน" เพื่อกระจายการเดินทางและเหลื่อมเวลาเดินทาง "เข้า-ออก" กรุงเทพฯ โดยจะขอความร่วมมือประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวภายในรัศมี 300 กม.จากกรุงเทพฯ เดินทางออกช่วงระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย.64 และเดินทางกลับช่วงระหว่างวันที่ 15-16 เม.ย.64
"ส่วนสาเหตุที่ขอความร่วมมือให้เดินทางแบบเหลื่อมเวลานั้น เนื่องจากคาดการณ์แนวโน้มปริมาณจราจร การเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งช่วงเดินทางออกกรุงเทพฯ และช่วงเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ พบว่าปริมาณจราจรเดินทางออกจากกรุงเทพฯ สูงถึง 946,133 คันต่อวัน ในช่วงที่มีการเดินทางสูงสุด และมีปริมาณจราจรเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ถึง 667,040 คันต่อวัน ในช่วงที่มีการเดินทางสูงสุด"
ขอความร่วมมือ ปชช. 21 จังหวัด เหลื่อมวันเวลาเดินทาง "เข้า-ออก" กทม.
สำหรับประชาชนในกลุ่มจังหวัดบ้านใกล้กรุงเทพฯ ระยะทางไม่เกิน 300 กม. ซึ่งภาครัฐจะขอความร่วมมือมีจำนวน 21 จังหวัด ดังนี้
1.กลุ่มจังหวัดเส้นทางสายเหนือ 9 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์
2.กลุ่มจังหวัดเส้นทางตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด คือ สระบุรี นครนายก ชัยภูมิ และนครราชสีมา
3.กลุ่มจังหวัดเส้นทางสายตะวันออก 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว
4.กลุ่มจังหวัดเส้นทางสายตะวันตก 4 จังหวัด คือ สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กล่าวอีกว่า มั่นใจหากประชาชนให้ความร่วมมือร่วมใจวางแผนในการเดินทาง และเหลื่อมเวลาตามมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณจราจรช่วงประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ได้ 75,800 คันต่อวัน ในช่วงที่มีการเดินทางสูงสุด และช่วยลดปริมาณจราจรในช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯได้ถึง 48,300 คันต่อวัน ในช่วงที่มีการเดินทางสูงสุด นอกจากเป็นการช่วยกระจายปริมาณจราจรบนถนน และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดแล้ว ยังสามารถช่วยลดความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ ลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งช่วยลดมลภาวะทางอากาศได้อีกด้วย
Cr. Thairath