ครม. เคาะลดเงินหักนำส่ง ประกันสังคม ทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง เหลือสมทบฝ่ายละ 2% จากเดิม 5%
นาน 3 เดือน กันยายน-พฤศจิกายน 2563
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 ก.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงานเพื่อลดหย่อนการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง
มติดังกล่าว จะทำให้ ทั้งลูกจ้างและนายจ้างของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบร้อยละ 2 ของค่าจ้างผู้ประกัน จากเดิมร้อยละ 5 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 96 บาท (จากที่ต้องจ่ายเดือนละ 432 บาท) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2563 โดย รัฐบาลคาดว่าจะเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจราว 2.4 หมื่นล้านบาท
การลดหย่อนการจ่ายเงินสมทบครั้งนี้ จะเป็นการลดภาระให้แก่ผู้ประกันตน จำนวน 12.79 ล้านคน คิดเป็นเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท และนายจ้าง 4.87 แสนราย คิดเป็นเงิน 1.1หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 2.4 หมื่นล้านบาท และหากคิดเป็นจำนวนเงินที่จะประหยัดได้ของผู้ประกันตน มาตรา 33 เฉลี่ย 1,022 บาท และผู้ประกันตนมาตรา 39 เฉลี่ย 1,008 บาท
ก่อนหน้านี้ นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม ได้กล่าวถึงข้อเสนอของกระทรวงแรงงานซึ่งจะปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละ 2% จากเดิมที่กำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 5% เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่ได้เคยปรับลดในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. แล้วครั้งหนึ่ง
มติดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมบอร์ดประกันสังคม ซึ่งมีตัวแทนทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
Cr. prachachat.