สวัสดิการแรงงานนั้นถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ตัวผู้ทำงานและครอบครัว ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการจัดทำสวัสดิการนี้ เรียกได้ง่ายๆว่าเป็น "น้ำใจ" ของผู้ประกอบการที่มีให้แก่คนทำงาน หรือลูกจ้าง ส่งผลให้คนทำงานมีความรัก และภักดีต่อองค์กร รวมถึงเป็นตัวกระตุ้นให้ผลงานต่างๆออกมามีคุณภาพ
ซึ่งสวัสดิการแรงงานแบบยืดหยุ่นนั้นแตกต่างจากสวัสดิการทั่วไปอย่างไร คำตอบคือ สวัสดิการแบบยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการของลูกจ้างได้ เนื่องจากลูกจ้างแต่ละคนนั้นมีความต้องการแตกต่างกัน ซึ่งวันนี้ได้หยิบยกแนวทางในการจัดสวัสดิการแรงงานแบบยืดหยุ่นจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมาฝากกัน เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ผู้ประกอบการ และเป็นความรู้แก่ผู้สมัครงาน จะมีอะไรบ้าง ไปชมกัน
สวัสดิการแรงงานมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ
1.สวัสดิการแรงงานทางกฎหมาย
เป็นสิ่งที่คนทำงานจำเป็นต้องได้รับ จากผู้ประกอบการตามกฎหมาย ที่บัญญัติไว้ในพระราชงัญญัติคุ้มครองแรงงาน
2.สวัสดิการแรงงานนอกเหนือกฎหมาย
เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจัดตั้งขึ้น เพื่อให้คนทำงานและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำในรูปแบบของ สิ่งของ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หรือแม้กระทั่งเงิน เพื่อจูงใจให้คนทำงานมีความกระตือรือร้น และอยากทำงานในองค์กรนานๆ
ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้
-สวัสดิการพัฒนาลูกจ้าง อย่างการจัดตั้งโรงเรียนในที่ทำงาน ,จัดอบรมเพิ่มความรู้,จัดให้มีห้องสมุด เป็นต้น
-สวัสดิการด้านค่าครองชีพ การตั้งร้านค้าสหกรณ์,การให้เงินช่วยเหลือในงานสำคัญต่างๆ ,การให้ชุดทำงาน,การให้เงินโบนัส ค่าเบี้ยขยัน เป็นต้น
-สวัสดิการช่วยเหลือการออมเงิน เช่น การตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
-สวัสดิการการพัฒนาสถาบันครอบครัว เช่น การช่วยค่ารักษาพยาบาลคนในครอบครัว , การช่วยเหลือค่าเล่าเรียนแก่บุตร เป็นต้น
-สวัสดิการที่ส่งเสริมความมั่นคง เช่น เงินบำเน็จ ,กองทุนฌาปนกิจ , สวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น
-สวัสดิการงานนันทนาการ เช่น การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ ,การจัดงานกีฬาสี เป็นต้น
-สวัสดิการด้านอนามัย เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี , การให้ความรู้เรื่องสุขภาพ
การจัดสวัสดิการแรงงานแบบยืดหยุ่น สามารถแบ่งออกเป็น 4 แบบ ได้แก่
1.การเลือกชุดสวัสดิการ
การเลือกชุดสวัสดิการที่เหมาะกับคนทำงานในแต่ละประเภท จะช่วยให้คนทำงานได้รับสวัสดิการที่ตรงตามความต้องการ สวัสดิการไหนไม่จำเป็น ก็สามารถเลือกที่จะไม่ใช้ได้ เช่น คนทำงานที่ไม่มีบุตร ก็สามารถเลือกสวัสดิการอื่นแทนสวัสดิการค่าเล่าเรียนบุตรได้ เป็นต้น โดยสามารถแบ่งออกเป็นชุด เพื่อให้คนทำงานในองค์กรได้เลือก และเมื่อสิ้นสุดปี ก็สามารถเลือกเพื่อเปลี่ยนได้
2.การเลือกเปลี่ยนแปลงรูปแบบสวัสดิการแรงงานในประเภทเดียวกัน
ผู้ประกอบการ สามารถให้โอกาสคนทำงาน เลือกเปลี่ยนแลงรายละเอียดของสวัสดิการแรงงานในประเภทเดียวกันได้ เช่น โปรแกรมตรวจสุขภาพที่ผู้ประกอบการจัดให้ อาจไม่เป็นที่ถูกใจแก่คนทำงาน ซึ่งคนทำงานสามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนโปรแกรมตรวจสุขภาพได้ เป็นต้น
3.การเปลี่ยนรูปแบบการจัดสวัสดิการแรงงานข้ามประเภท
สวัสดิการแบบนี้ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกาลเวลา และความเปลี่ยนแปลงของคนทำงาน เช่น การจัดรถรับส่ง ซึ่งเมื่อระยะเวลาเปลี่ยนไป คนทำงานอาจไม่ต้องการบริการจัดรถรับส่งเป็นจำนวนมากขึ้น จึงควรปรับเปลี่ยนปริมาณการจัดรถรับส่ง และโอนสิทธิสวัสดิการนั้นมาเป็นสวัสดิการอื่นแทน
4.สวัสดิการแบบเลือกสะสมคะแนน
ผู้ประกอบการสามารถเสนอสวัสดิการแบบสะสมคะแนนให้แก่คนทำงานได้ โดยสวัสดิการใด ที่คนทำงานไม่ต้องการใช้ ซึ่งปกติแล้วอาจทำให้เสียสิทธิไปฟรีๆ แต่สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นแต้มเพื่อนำไปแลกบริการอื่นๆได้ หรือสามารถนำไปสะสมเป็นเงิน และได้รับเมื่อออกจากงานได้ สามารถแบ่งได้ดังนี้
-หมวดการออม สามารถแลกรับเป็นเงินสดได้
-หมวดชีวิตประจำวัน สามารถนำไปเเลกเป็น ตั๋วชมภาพยนตร์ บัตรเติมน้ำมัน หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าได้
-หมวดสุขภาพ สามารถนำไปแลกประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น
ในการจัดทำสวัสดิการแรงงานแบบยืดหยุ่นจำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูล ทั้งจำนวนแรงงานที่มี ศึกษาข้อมูลประเภท อายุ เพศ การดำเนินชีวิต รวมถึงต้องมีการหารือร่วมกัน เพื่อประโยชน์ที่ได้รับอย่างสูงสุด